“สงครามการค้า” ช็อกโลก สหรัฐตีรวนหวั่นฉุด GDP

อัปเดตล่าสุด 11 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 502 Reads   

สงครามการค้าปะทุ สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 5.7 พันรายการ จาก 10% เป็น 25% มีผลทันที นักวิชาการชี้ช็อกโลก ทำจีดีพีไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า 3.5% พาณิชย์หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เรียกทูตพาณิชย์ประเมินสถานการณ์ปลายเดือนนี้ เตรียมแผนรอรัฐบาลใหม่สานต่อเจรจาการค้า

สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐประกาศเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.3 ล้านล้านบาท) จากเดิม 10% ขึ้นเป็น 25% ซึ่งมีผลตั้งแต่เวลา 12.01 น. ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงปักกิ่ง เป็นการตัดสินใจของสหรัฐที่ “สร้างความผิดหวังอย่างยิ่ง” ให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง และยืนยันว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีนจะมีมาตรการตอบโต้ “ตามความเหมาะสม” และหวังว่าจีนและสหรัฐจะสามารถพบกันได้ครึ่งทางเพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ด้วยความร่วมมือและการปรึกษาหารือกัน มาตรการภาษีดังกล่าวเป็นไปตามคำขู่ของประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ที่ได้ประกาศออกมาก่อนหน้านี้

ขึ้นภาษีสินค้าจีน 5.7 พันรายการ


ทั้งนี้ มาตรการเพิ่มแรงกดดันด้านการค้าของสหรัฐต่อรัฐบาลปักกิ่ง เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ นายหลิว เฮ่อ รองนายกรัฐมนตรีของจีน และที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พบหารือครั้งใหม่กับคณะผู้แทนของสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน นับเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่ทรัมป์รับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ


ขณะที่รอยเตอร์ส รายงานว่า อัตราภาษีใหม่ 25% นี้จะถูกใช้กับสินค้าที่นำเข้าจากจีนกว่า 5,700 ประเภท ที่ถูกส่งออกจากท่าเรือ และสนามบินของจีนมายังสหรัฐ ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 9 พ.ค.ตามเวลาในสหรัฐ โดยสินค้าที่จะได้ผลกระทบส่วนใหญ่เป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ส่งข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงเครื่องใช้ในครัวเรือน อุปกรณ์แสงสว่าง

นัดทูตพาณิชย์ถกประเมิน


ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลไทย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าเมื่อสหรัฐปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนเป็น 25% จะมีผลกระทบประเทศไทย แต่ต้องแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส ตรงไหนที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวต้องทำ และผลกระทบมีตรงไหนก็ต้องเร่งแก้ไข อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์ยังมองการส่งออกไทยทั้งปี 2562 ขยายตัวเป็นบวก แต่จะขยายตัวเท่าไรต้องติดตามและประเมินสถานการณ์ เนื่องจากในปลายเดือน พ.ค. กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประชุมหารือกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ทั่วโลก ประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

หวั่นซ้ำเติม ศก.โลก


สำหรับสินค้าจีนที่สหรัฐขึ้นภาษี 5,745 รายการ มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือร้อยละ 40 ของมูลค่าสินค้าที่สหรัฐนำเข้าจากจีน ที่ขึ้นภาษีจาก 10% เพิ่มเป็น 25% คาดว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าเดิม ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการค้าไทยกับจีน และไทยกับสหรัฐ ในภาพรวมมากนัก แต่อาจส่งผลในระดับมหภาค ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอีก ซึ่งจะกระทบไทยทางอ้อมที่พึ่งพาการส่งออก แม้ไทยจะส่งออกไปสหรัฐได้มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐต้องนำเข้าทดแทนสินค้าจีน แต่สินค้าประเทศอื่น เช่น เม็กซิโก เวียดนาม เกาหลีใต้ อินเดีย ไต้หวัน ก็จะถูกนำเข้าเพิ่มขึ้นเช่นกัน
 

เกษตร-ยานยนต์ได้อานิสงส์


ส่วนสินค้าที่ไทยอาจส่งออกไปแทนสินค้าจีนได้เพิ่มจากการขึ้นภาษี เช่น ยานพาหนะและส่วนประกอบ อาหารปรุงแต่งและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร (ถั่วแห้ง แผ่นยางสดรมควัน ข้าวสี ยางแท่ง TSNR) ผักผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูป (เช่น กล้วย เม็ดมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ฝรั่ง มะม่วง มังคุด มะละกอ สับปะรด) อาหารทะเลแช่แข็ง และแปรรูป (เช่น ปลาทูน่าบิ๊กอาย ปลาทูน่าท้องแถบ ปลาทูน่าครีบเหลืองสดและแช่แข็ง เนื้อปลาแช่แข็ง) น้ำผึ้งธรรมชาติ อาหารสุนัข/แมว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ที่ไม่ใช่น้ำผลไม้) เคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก (เช่น กรดซิตริก) ตลอดจนยานยนต์และส่วนประกอบ (เช่น เครื่องยนต์สันดาปภายใน ยางรถยนต์)
 

เปิดโพยสินค้าดาวเด่นเจาะจีน


สำหรับสินค้าส่งออกไปจีนที่จะเร่งส่งออกไปทดแทนการส่งออกในกลุ่มที่ลดลง อาทิ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเครื่องสำอาง อาหารปรุงแต่ง เนื้อสัตว์แช่แข็งและแปรรูป ผลไม้สดและแปรรูป ยางสังเคราะห์ และอัญมณี ซึ่งเป็นสินค้าที่ขยายตัวดีมากในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องเร่งขยายการเข้าไปทำตลาดในจีนเพิ่มเติม ทั้งนี้ จีนกับสหรัฐเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย สองประเทศรวมกันมีสัดส่วนถึง 25% เท่ากับอาเซียน 10 ประเทศ ไทยจึงต้องแสวงหาโอกาสจากสงครามการค้าและรักษาสัดส่วนสินค้าไทยในตลาดทั้งสอง


รอรัฐบาลใหม่สานเจรจาการค้า


ซึ่งต้องมีมาตรการรุกตลาดรองของจีนรองรับไว้ โดยจะเน้นบุกเจาะตลาดที่เป็นมณฑล รัฐ และเมืองรองมากขึ้น รวมถึงสหรัฐ อินเดีย และประเทศอื่น ๆ ที่สินค้าไทยมีโอกาส ระยะยาวไทยต้องเร่งเจรจาความตกลงต่าง ๆ และเตรียมตัวเข้าสู่ Mode การเจรจา หลังจากมีรัฐบาลใหม่ เพราะมิฉะนั้น จะไม่มีทางเลือกในการส่งออกภายใต้อัตราภาษีที่ต่ำ เป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งปิด ส่วนความท้าทายที่สุด คือ การที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งทำให้การส่งออกไทยตกอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี
 

ดึงจีนลงทุนอีอีซีเพิ่ม


เบื้องต้นอาจต้องเร่งขยายส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ผลไม้ ไปจีนให้มากขึ้น แต่ระยะยาวต้องนำนโยบายด้านการลงทุนเข้ามาเป็นเครื่องมือ โดยดึงให้จีนเข้ามาลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ ให้ย้ายห่วงโซ่การผลิตมาไทยแทน โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางอาเซียน + CLMVT และการเป็นศูนย์ Transport and Travel Hub ที่รัฐบาลได้วางวิสัยทัศน์ไว้ บวกกับต้องเชื่อมโยง Sector ที่ Belt and Road วางไว้ในจีนฝั่งตะวันตก ที่จะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น


ศก.โลก-ไทยเสี่ยงโตต่ำ 3.5%


ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ช็อกโลกอย่างมาก เนื่องจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดการชะลอลง และส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่า 3.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 3.8% โดยศูนย์จะประกาศตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ 16 พ.ค.นี้


“เดิมทางศูนย์ให้น้ำหนักเศรษฐกิจไทยในปีนี้โต 3.5% แค่ 10% ซึ่งถือเป็นกรอบล่าง และจะให้น้ำหนัก 3.8% ในเปอร์เซ็นต์ที่มาก แต่ตอนนี้ให้น้ำหนัก ตัวเลข 3.5% ถึง 50% แต่ต้องรอความชัดเจนอย่างเป็นทางการวันที่ 10 พ.ค.ว่า สหรัฐจะประกาศออกมาตามที่มีกระแสข่าวที่ออกจากสื่อยักษ์ใหญ่ของโลกหรือไม่ แต่หากผลออกมาถือเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงมาก เพราะเชื่อว่าทางจีนอาจมีการตอบโต้แน่”

แจ็กพอตยกแผงหุ้น-ท่องเที่ยว


จะทำให้การค้าทั่วโลกปั่นป่วน นอกเหนือจากตลาดหุ้น ตลาดทุน และจะลุกลามไปถึงการบริโภค และการท่องเที่ยวด้วย ทั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกแล้ว อาจทำให้ยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยลดลงด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีน รวมถึงในเอเชีย และยุโรปด้วย ดังนั้น เป้านักท่องเที่ยว 40 ล้านคนก็อยู่ในความเสี่ยงเหมือนกัน

เพราะเมื่อเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศได้รับผลกระทบก็จะมีผลต่อเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวในประเทศไทย